ช่วงนี้บ้านเราเข้าสู่หน้าฝนอย่างจริงจังแล้ว
และฝนเองก็พาสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่แสนจะอันตรายมาเยี่ยมเยืยนเราถึงบ้าน
แน่นอนว่า เจ้าสัตว์สี่ขาที่บ้านต้องอยากรู้อยากเห็นและอยากเล่นด้วยแน่ๆ
ปิงกี้เลยพาเพื่อน ๆ มารู้จักวิธีรับมือเมื่อ พวกมะหมา มะแมว ของเราถูกสัตว์ร้ายเหล่านั้นเล่นงานกันจย๊าาา !
ยุง
เจ้าตัวเล็กบินได้นี้ เป็นพาหะนำตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจ
เมื่อมะหมา มะแมว ถูกยุงที่มีเชื้อกัดก็จะทำให้เป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ
และยิ่งถ้ายุงมากัดสัตว์เลี้ยงตัวที่ป่วยก็จะนำเชื้อไปแจกจ่ายสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ ได้อีกมากมาย
อาการเบื้องต้น
ซึม เหนื่อยง่าย หายใจหอบ ร่างกายอ่อนเพลีย ไอแห้งๆ และบางตัวจะมีเลือดออกมาด้วยเมื่อไอ ในระยะต่อมาจะบวมน้ำและท้องมาน และเสียชีวิตในที่สุด
สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจไม่แสดงอาการชัดเจน แต่หากรู้สึกว่าเหนื่อยง่าย มีอาการหอบบ่อยๆ ควรนำไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียดจะได้รักษาได้ทันท่วงทีจย้าาา !
คางคก
พิษของคางคกจะอยู่ตาม ผิวหนัง เลือด และรังไข่ แต่มีต่อมพิษอยู่ที่บริเวณหัวเหนือตา เมื่อคางคกถูกคุกคาม โดยมะหมาและมะแมว ก็จะหลั่งสารพิษออกมา ลักษณะเป็นยางเมือกสีขาวๆ
อาการเบื้องต้น
จะเกิดอาการระคายเคืองที่ปากและหน้า ถ้าบวมอักเสบจะทำให้หายใจลำบาก มีน้ำลายฟูมปาก เจ็บปวดแสบร้อน และพิษส่งผลต่อการทำงานของหัวใจด้วย ยิ่งถ้ากินเข้าไปก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ก่อนอื่นต้องให้สัตว์เลี้ยงสงบนิ่งลงก่อน หากเพิ่งได้รับพิษที่ปากต้องรีบล้างปาก โดยจับสัตว์เลี้ยงก้มหัวลงเพื่อให้น้ำไหลผ่านออกมาจากปาก ล้างเอาพิษในช่องปากออกมาให้มากที่สุด (อย่าให้กลืนเข้าไป) แต่ถ้าโดนพิษมานานจนหน้าบวมปากบวมแล้ว ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งคุณหมอจะรักษาไปตามอาการจย๊าาา !
ตะขาบ
เป็นอีกหนึ่งตัวที่มะหมา มะแมว ชอบเล่น สงสัยคิดว่าเป็นของเล่นแน่ๆ ตะขาบเป็นสัตว์ข้อปล้องที่มีพิษ แต่พิษไม่รุนแรงขนาดทำให้น้องหมาเสียชีวิต หากถูกตะขาบกัดจะพบรอยเขี้ยว 1-2 แผล (มองเผินๆ คล้ายถูกงูกัด แต่ไม่ลึกเท่า)
อาการเบื้องต้น
พิษจะทำให้เจ็บปวด แดง ร้อน สัตว์บางตัวก็อาจมีอาการแพ้พิษ ซึ่งจะมีการบวมที่แผล อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ซึ่งอันตรายกว่าพิษของตะขาบเสียอีก
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ให้โกนขนที่แผล ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล โดยพยายามไล่เอาเลือดเสียออกมาเท่าที่จะทำได้ แต่อย่าบีบแรงเพราะจะไปทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบได้ หากปวดบวมให้ประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัดเพื่อลดปวด ไม่ควรประคบร้อนเด็ดขาด หากไม่ดีขึ้นควรพามาพบคุณหมอจย๊าาา !
หนู
มักจะติดเชื้อจากการสัมผัสกับน้ำ ดินหรือโคลนที่มีเชื้ออยู่ขณะที่ว่ายน้ำ เดินผ่านหรือดื่มน้ำที่สกปรกเหล่านั้นเข้าไป นอกจากนั้นยังอาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อได้อีกด้วย โดยเฉพาะในสุนัขล่าสัตว์หรือสุนัขที่เล่นกีฬา อาศัยอยู่ใกล้กับป่า และสุนัขที่อาศัยอยู่ในโรงเลี้ยงสัตว์
อาการ
มีไข้และป่วยอย่างเฉียบพลัน เดินเกร็ง เหงื่อออก อ่อนแรง ซึม เบื่ออาหาร
หิวน้ำและปัสสาวะมากขึ้น อาจจะอาเจียนปนเลือด ท้องเสีย ซึ่งอาจจะมีเลือดปน
มีสารคัดหลั่งเป็นเลือดออกมาทางช่องคลอด มีจุดเลือดออกตามเหงือก ตัวเหลืองตาเหลือง ร่วมกับอาการของภาวะซีด ไอ หายใจลำบาก หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ คัดจมูก เยื่อบุบริเวณต่างๆ ของร่างกายมีอาการบวม ต่อมน้ำเหลืองโตเล็กน้อย
การสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงจะติดเชื้อหรือไม่นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะเราไม่สามารถทราบได้เลยว่ามะหมา มะแมวจะไปโดนเชื้อตอนไหน แต่หากพบว่าสัตว์เลี้ยงที่มีอาการรุนแรงอย่างฉับพลันจะต้องรีบเข้ารับการรักษาในทันทีนะจย๊ะ !
งู
งูเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่ชอบมากับน้ำ
ยิ่งช่วงไหนฝนตกหนัก ๆ จนเกิดน้ำท่วม
เจ้างูก็จะหาที่หลบ เพื่อหาไออุ่น
และถ้าเกิดบังเอิญ มะหมา มะแมวเราไปเจอเข้าแล้วอยากเล่นด้วย ก็อาจถูกกัดหรือฉกได้
ซึ่งงูมี 2 ประเภท คืองูมีพิษ กับงูไม่มีพิษ เราสามารถสังเกตได้จากรอยเขี้ยว ถ้ามีพิษจะมีรอยเขี้ยว 1-2 แผล ต่างกับงูไม่มีพิษ จะไม่มีเขี้ยวแต่จะเป็นรอยถากของแนวรอยฟัน ไม่มีรอยเขี้ยวให้เห็น ปัญหาคือ ขนที่ปกคลุมตัวทำให้เรามองไม่เห็นรอยแผล จะรู้อีกทีก็เมื่อแสดงอาการ
อาการเบื้องต้น
แผลบวมขึ้น หน้าบวม ตัวบวม มีอาการปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต มีจุดเลือดออก อาจียนหรืออุจจาระเป็นเลือด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เมื่อสงสัยว่าจะถูกงูกัดให้ควบคุมอย่าให้เครียด ดิ้นรน วิ่งหนี เพราะถ้าตื่นเต้น หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น อาจทำให้พิษแพร่กระจายได้ง่าย ปล่อยเลือดบริเวณแผลออกเพื่อระบายพิษ แต่ก็อย่าให้แผลที่ถูกงูกัดเคลื่อนไหวหรือกระทบกระเทือนมาก และโกนขนโดยรอบ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามนำแผลไปแช่น้ำอุ่น เพราะพิษจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ห้ามใส่สุรา หรือพอกน้ำแข็งที่แผล ให้รัดเหนือแผลประมาณ 2 นิ้ว ทิศทางเข้าหาหัวใจ แล้วให้คลายทุก 10 นาที คลายครั้งละ 1 นาที หรือ จะพันขาด้วยผ้ายืด หรือหาอะไรมาดามด้วยคล้ายการพันเข้าเฝือกดามที่ขาก็ได้ เพื่อลดการเคลื่อนไหว (แต่ถ้าเป็นมานานกว่าครึ่งชั่วโมงแล้วอาจไม่ค่อยได้ผล) แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล โดยอาจโทรติดต่อคุณหมอก่อน เพื่อให้คุณหมอได้เตรียมเซรุ่มไว้ แต่ถ้าเราคาหนังคาตาเลยว่าถูกงูกัด เจ้าของจะต้องจดจำลักษณะของงู สี ลวดลายและรายละเอียดต่างๆ หรือถ่ายรูป มาแจ้งกับคุณหมอ เพื่อที่คุณหมอจะได้เลือกให้เซรุ่มให้เหมาะสมกับพิษของงูต่อไปจย้าาา !